Skip to content

Change Management : การบริหารการเปลี่ยนแปลง

March 1, 2012

Change Management : การบริหารการเปลี่ยนแปลง

ผู้เรียบเรียง  ธิดารัตน์  เทพรัตน์

การเปลี่ยนแปลงในองค์กรเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีลำดับขั้นตอน เคิร์ท เลวิน (Kurt Lewin)  ได้แบ่งขั้นตอนของกระบวนการให้การเปลี่ยนแปลงออกเป็น  3  ระยะ  ได้แก่ 1)  ระยะยอมรับถึงความจำเป็น (Unfreezing)  เป็นขั้นตอนที่เงื่อนไขสภาพแวดล้อมและสถานภาพเดิมที่องค์การเป็นอยู่ขณะนั้นเกิดปัญหาทำให้การดำเนินกิจการไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งอาจเกิดจากการมีโครงสร้างการจัดรูปแบบงาน หรือเทคโนโลยีที่ขาดประสิทธิผลหรือการที่พนักงานขาดทักษะและเจตคติที่เหมาะสม การเกิดวิกฤตการณ์เป็นตัวเร่งให้ฝ่ายต่าง ๆ ยอมรับและเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง  2)  ระยะดำเนินการเปลี่ยนแปลง (Changing) เป็นขั้นตอนของการนำแผนงานวิธีการและเทคนิคต่าง ๆ ลงสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพที่ต้องการ และ 3)  ระยะรักษาสภาพใหม่ให้อยู่กับองค์การได้ถาวร (Refreezing)  ขั้นตอนนี้คือ การทำให้การเปลี่ยนแปลงใหม่ในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคงอยู่และกลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์การต่อไป

การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)   เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานด้านกระบวนการภายในองค์กร  การบริหารการเปลี่ยนแปลง เป็นเทคนิคการจัดการที่เป็นส่วนหนึ่งของความสามารถหลักของผู้บริหาร การบริหารการเปลี่ยนแปลงมีหลักสำคัญ  4  ประการ คือ  1)  การบริหารทิศทางการเปลี่ยนแปลง  2)  การพัฒนาความสามารถของบุคลากร  3)  การปรับบุคลากรให้เข้ากับองค์กร   และ 4) การพัฒนาความพร้อมขององค์กร ในยุคปัจจุบันที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วผู้บริหารจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองและองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม  และมีการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  ซึ่งสิ่งที่องค์กรจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง คือ องค์ประกอบที่สำคัญ  6  ด้านต่อไปนี้

1.  เป้าหมายและกลยุทธ์ (Goals and strategies) องค์การมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เป้าหมายและกลยุทธ์ไปสู่เป้าหมายอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อมีการขยายกิจการหรือเมื่อต้องเสนอสินค้าหรือบริการตัวใหม่เข้าสู่ตลาด เมื่อต้องแสวงหาตลาดใหม่เพื่อรองรับสินค้า เป็นต้น

2.  เทคโนโลยี (Technology) การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงระดับสำคัญ เช่น การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์สายตรงเป็นระบบเครือข่ายให้ลูกค้า สามารถเข้าถึงสินค้าและใช้บริการได้สะดวก ถือเป็นการเปลี่ยนเทคโนโลยีระดับเล็กน้อยแต่ถ้าทั้งกิจการต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมดเพื่อการผลิตให้ทันสมัย  ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่

3. การออกแบบงานใหม่ (Job redesign) องค์การจำเป็นต้องจัดงานออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ใหม่ให้มีระดับความมากหรือน้อยในประเด็น  เช่น  ความหลากหลาย (Variety)  การให้อิสระ (Autonomy)  การมีลักษณะเฉพาะ (Identity)  การให้ความสำคัญ (Significance)  ตลอดจนการจัดระบบข้อมูลป้อนกลับ (Feedback)  เป็นต้น

4. โครงสร้าง (Structure)  เช่น จัดโครงสร้างแบบตามหน้าที่หรือแบบที่เน้นผลผลิต จะมีความเป็นทางการและรวมศูนย์เพียงไร เน้นแบบแนวราบหรือแนวตั้ง (Flat or tall structure) หรือแบบเครือข่าย (Networking) เป็นโครงสร้างแบบจักรกล (Mechanic structure) หรือแบบสิ่งมีชีวิต (Organic structure) เป็นต้น

5. กระบวนการ (Process)  เป็นขั้นตอนการทำให้งานสำเร็จ ก็อาจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แทนที่เคยทำตามลำดับเป็นขั้นตอน ไปเป็นการร่วมทำพร้อมกันจนงานสำเร็จ

6. คน (People)  คนที่ปฏิบัติงานในองค์การจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมื่อเงื่อนไขอื่นได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรกปรับเปลี่ยนคนออกแล้วจ้างคนที่เหมาะสมกับภารกิจใหม่เข้าแทน  ทำนองที่เรียกว่า  ถ่ายเลือดใหม่ (New blood)  วิธีหลังใช้วิธีเปลี่ยนแปลงคนเดิมด้วยการพัฒนาฝึกอบรมด้านทักษะและเจตคติที่สอดคล้องกับงานใหม่  

ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารจะต้องใช้ความอดทน  และความพยายามเป็นอย่างมากในการที่จะเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบต่าง ๆ ขององค์กรให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

กิตติยา  คัมภีร์.  การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management).  [ออนไลน์]  สืบค้นจาก            http://www.opdc.go.th/special.php?spc_id=4&content_id=116

การประยุกต์ทฤษฎีสู่การปฏิบัติขององค์กรภาครัฐ.  [ออนไลน์]  สืบค้นจาก                          http://kalai.exteen.com/20051121/entry

นุชนาถ.  แนวคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงองค์กร.  2551.  [ออนไลน์]  สืบค้นจาก             http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=1425.0

 

From → Uncategorized

Leave a Comment

Leave a comment